ads by google

"ผลของสงครามเศรษฐกิจยุคใหม่ที่เราไม่เห็นเลือด ไม่เห็นศพนอนตายเกลื่อนกลาด แต่มันมีความเสียหายจริง ผมจึงออกไปถ่ายภาพเพื่อยืนยันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น"

 ครบรอบ 20 ปีวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ศิลปินภาพถ่ายแถวหน้าของประเทศไทย มานิต ศรีวานิชภูมิ นำชุดผลงานภาพถ่าย "ฝันค้าง" (Dream Interruptus) เข้าร่วมแสดงในนิทรรศการกลุ่ม "Contemporary Ruin" ที่แกลเลอรี KAI 10 ซึ่งก่อตั้งโดยมูลนิธิอาธีนา (Arthena Foundation) ที่เมืองดุสเซลดอร์ฟ ในเยอรมนี

นิทรรศการดังกล่าวนำเสนอ 'ซากปรักหักพัง' ในบริบทที่แตกต่างกันไปของศิลปินต่างชาติรวม 9 คน จากตึกและบ้านเรือนที่กลายเป็นเศษอิฐจากสงครามกลางเมือง ไปจนถึงผลกระทบของภัยพิบัติทางธรรมชาติ ในแง่มุมหนึ่ง งานศิลปะในงานนี้ชี้ให้เห็นผลกระทบทางสังคมและการเมืองจากปรากฏการณ์ในลักษณะดังกล่าว แต่ในขณะเดียวกันก็ชวนให้มองเห็นสุนทรียศาสตร์ซึ่งอาจซ่อนตัวอยู่ในความล้มเหลวเช่นกัน

มานิตเป็นที่รู้จักมากที่สุดจากผลงานชุดภาพถ่ายเสียดสีการเมืองและสังคมไทยในชื่อ "Pink Man" ซึ่งเขาถ่ายรูปชายร่างท้วมสวมสูทสีชมพูพร้อมกับรถเข็นซูเปอร์มาเกตกับสถานที่ต่าง ๆ ในโลก

    ย้อนรอย 20 ปีวิกฤตเศรษฐกิจ
    85 ปีปฏิวัติสยาม: การตีความ “ประชาธิปไตยไทย” ณ เวทีศิลปะโลก

"ฝันค้าง" เป็นภาพตึกร้างในกรุงเทพฯ ที่มานิตถ่าย 3 ปีให้หลังจากปี 2540 แม้โทนสีขาว-ดำ ของภาพจะชวนให้ผู้ชมนึกย้อนถึงความล้มเหลวในอดีต แต่ในเวลาเดียวกันก็ทำให้ฉุกคิดถึงผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนั้นที่มีต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

มานิตให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยถึงแนวคิดในการสร้างผลงานชุดนี้ และหน้าที่ของศิลปินในการบันทึกและตอบโต้กับปรากฏการณ์ต่าง ๆ ในสังคม

แนวคิดหลักของนิทรรศการ "Contemporary Ruin" คืออะไร?

ผมขอแปล[ชื่อนิทรรศการนี้]ว่า "ซากปรักหักพังร่วมสมัย" เป็นแนวคิดของลุดวิก เซย์ฟาร์ธ และยูเลียร์ โฮนเนอร์ สองภัณฑารักษ์ชาวเยอรมันที่ต้องการแสดงให้เห็นถึงสภาวะหรือปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นไปพร้อมกับโลกาภิวัตน์ นั่นคือภาพของสิ่งปรักหักพัง โลกาภิวัตน์มิได้นำมาแต่ความสวยหรู แวววาว น่าตื่นเต้น แต่มันก็นำสิ่งเศร้าหมอง และการทำลายล้างมาด้วยพร้อม ๆ กัน

ซากปรักหักพังร่วมสมัยนั้นเกิดขึ้นทั้งจากฝีมือมนุษย์ที่ทำลายล้างกันเอง เช่น สงครามในตะวันออกกลาง ที่บ้านเรือนตืกแถวถูกระเบิดทำลายเป็นเศษซากอิฐ หรือแม้แต่ด้วยฝีมือนักพัฒนาที่ดินเอง ที่ไล่ทุบไล่รื้อตึกเก่า ๆ เพื่อไปทำคอนโดฯ และรวมไปถึงฝีมือของภัยธรรมชาติอย่างแผ่นดินไหว"

 อะไรคือที่มาของ "ฝันค้าง" (Dream Interruptus)?

ผลงานภาพถ่ายขาว-ดำชุดนี้เป็นภาพตึกร้างที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จ เพราะพิษวิกฤตเศรษฐกิจ "ต้มยำกุ้ง 2540" ธนาคารและสถาบันการเงินจำนวนหนึ่งล้ม ยุติเงินกู้ ทำให้โครงการก่อสร้างคอนโดฯ สำนักงาน และห้างสรรพสินค้า กว่า 500 โครงการต้องหยุดไปโดยปริยาย นี่คือผลของสงครามเศรษฐกิจยุคใหม่ที่เราไม่เห็นเลือด ไม่เห็นศพนอนตายเกลื่อนกลาด แต่มันมีความเสียหายจริง ผมจึงออกไปถ่ายภาพเพื่อยืนยันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยออกไปถ่ายในปี 2543 หรือ 3 ปีให้หลัง เพื่อให้แน่ใจว่าตึกเหล่านี้ได้รับผลกระทบจริงๆ

จะว่าไปวิกฤต 2540 นั้น จะบอกว่าไม่มีคนไทยตายก็ไม่เชิง มีหลายคนที่ฆ่าตัวตายเพราะหนี้ล้นพ้นตัว เพราะค่าเงินบาทตกต่ำ เพื่อนของผมคนหนึ่งก็สังเวยชีวิตให้กับมัน ผมเชื่อว่าไม่มีคนไทยคนไหนหนีรอดจากวิกฤตเศรษฐกิจ 40 หรอก เพียงแต่จะกระทบมากน้อยต่างกันไป ผมก็โดนเบี้ยวหนี้ บริษัทที่จ้างผมก็โดนผู้ว่าจ้างเบี้ยวเช่นกัน คือโดนเป็นลูกระนาด ผมเข้าใจและไม่โกรธแค้นใครทั้งนั้น ผมเชื่อว่าไม่มีใครอยากเบี้ยว แต่สถานการณ์มันใหญ่เกินตัว รัฐบาลยังล้มเลย นี่คือบทเรียนของประเทศไทย และคนไทยทั้งชาติ
กระบวนการสร้างงานชุดนี้เป็นอย่างไรบ้าง?

สำหรับ "ฝันค้าง" ผมอยากเปลี่ยนวิธีการแสดงออก ผมเลือกสื่อสารด้วยวิธีการถ่ายภาพแบบสารคดี เป็นภาพบันทึกตรงไปตรงมา ผมเลือกใช้ฟิล์มขาว-ดำเพื่อให้ได้อารมณ์นิ่งและเศร้าหมองไปพร้อม ๆ กัน ผมออกไปถ่ายหลาย ๆ ตึกกลางกรุงเทพฯ แถวสุขุมวิท ราชประสงค์ น่าจะประมาณ 6 เดือนล่ะครับที่ตระเวนถ่ายภาพ เดี๋ยวนี้ตึกเหล่านี้กลายเป็นคอนโดฯและศูนย์การค้าไปแล้ว แต่กว่าจะฟื้นตัวก็ใช้เวลาเป็นสิบปี

ตอนที่เกิดวิกฤตจริง ๆ ปี 40 ผมสร้างผลงานภาพถ่ายมา 2 ชุด คือ พิงค์แมน (Pink Man) และ สงครามไร้เลือด (This Bloodless War) เพื่อวิพากษ์สาเหตุของบริโภคนิยม การมีเศรษฐกิจแบบใช้จ่ายเกินตัว เป็นสามล้อถูกหวยทั้งประเทศ รัฐบาลก็ไม่มีธรรมาภิบาล ไม่กำกับดูแลสถาบันการเงินและตลาดหลักทรัพย์ ปล่อยให้เก็งกำไรเต็มที่ สุดท้ายประชาชนตาดำ ๆ คนทำงานหนักคือผู้รับเคราะห์ ไม่ใช่นายธนาคาร เจ้าของสถาบันการเงิน พวกนั้นล้มบนฟูก ไม่เจ็บตัว ส่วนประชาชนล้มบนซีเมนต์ ผมพยายามสะท้อนความรู้สึกเหล่านี้ออกมาใน 2 ชุดที่กล่าวมา

หน้าที่ของศิลปินต่อปรากฏการณ์ในลักษณะดังกล่าวคืออะไร?

ศิลปินก็คือประชาชน ดังนั้น เราก็ต้องเข้ามามีส่วนร่วมรับรู้และตรวจสอบด้วย อย่าปล่อยให้เขา(รัฐบาลและนายทุน)หลอกเอา เรื่องเศรษฐกิจสมัยใหม่เป็นเรื่องซับซ้อน แต่เราก็ต้องพยายามเรียนรู้และเข้าใจการทำงานของมัน ไม่งั้นจะถูกหลอกซ้ำซาก
20 ปีผ่านไป คุณคิดว่าประเทศไทยมีโอกาสประสบวิกฤตแบบเดิมอีกไหม?

พวกนักเศรษฐศาสตร์ หรือนักวิชาการการเงิน เคยบอกว่ามันเป็นธรรมชาติของมัน คือมันมีวงรอบของมัน นั่นหมายความว่า มันมีสิทธิ์จะกลับมาอีก ขนาดอเมริกาซึ่งมีประสบการณ์ก่อนเรายังไม่รอด เจอเข้าไปปี 2008 เดี๋ยวนี้สงบปากสงบคำ ก่อนหน้านั้นเมื่อเราเจอวิกฤต 40 วิจารณ์เราแบบไม่มีดี หาว่าคอร์รัปชันบ้าง ไม่รู้จักใช้จ่ายเงิน ไม่มีระบบควบคุม ไร้ธรรมาภิบาล พอเจอกับตัวเองอีกรอบก็ปิดปากเงืยบ

สิ่งที่ผมอยากจะบอกก็คือ เราอย่าเอาประเทศไปผูกไว้กับคนอื่น เอาระบบการเงินไปพ่วงกับเขา เมื่อวิกฤตมาเราก็จมไปกับเขาด้วย เราอาจไม่ใช่ต้นเหตุ แต่เมื่อพ่วงกันไว้ ก็คงยากที่จะหลีกเลี่ยง ดังนั้น เราต้องมีอิสระทางด้านระบบการเงินการธนาคารและหลักทรัพย์ ทั้งนี้ระบบของเราต้องดีด้วย

"Contemporary Ruin" จะจัดแสดงที่ แกลเลอรี KAI 10 เมืองดุสเซลดอร์ฟ ประเทศเยอรมนี ถึงวันที่ 1 ตุลาคม ก่อนจะไปจัดแสดงต่อที่ KINDL - Center for Contemporary Art ในกรุงเบอร์ลินจากวันที่ 22 ตุลาคมจนถึง 22 กุมภาพันธ์ปีหน้า
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
www.blogger.com

Post a Comment

0 Comments